เกาะหมาก ตั้งอยู่ที่ ตำบลเกาะหมาก กิ่งอำเภอเกาะกูด จังหวัดตราด มีอยู่เพียง 2 หมู่บ้านคือ หมู่ 1 บ้านอ่าวนิ และหมู่ 2 บ้านแหลมสน มีประชากรประมาณ 350 คน สภาพพื้นที่เกาะหมากเป็นที่ราบชายฝั่งและภูเขาสูงบางส่วน มีรูปร่างคล้ายดาวสี่แฉก ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทำสวนมะพร้าว สวนยางพารา โดยรอบเกาะหมากจะมีหาดทรายขาวสะอาด โดยเฉพาะบริเวณที่เป็นอ่าว 3-4 อ่าว คือ อ่าวสวนใหญ่, อ่าวพระ, อ่าวขาว, อ่าวนิด และที่หมู่เกาะใกล้ๆ มีแหล่งปะการังที่สวยงาม ดังนั้น เกาะหมากจึงเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สวยงามอีกแห่งหนึ่งของหมู่เกาะในจังหวัดตราด ซึ่งใน 2-3 ปีที่ผ่านมา เกาะหมากได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวเพื่อมาพักผ่อน

เกาะหมาก” นับได้ว่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวคุณภาพแห่งหนึ่งของเมืองไทย แม้ปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวเข้าไปไม่มากนัก แต่ก็นับได้ว่าได้รับความนิยมในหมู่นักท่องเที่ยวมากเช่นกัน ภายใต้ความเงียบสงบและสวยงาม
                         
ภายหลังจากองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. ได้ดูแลเกาะหมากเป็นหนึ่งในเขตพื้นที่พิเศษเพื่อพัฒนาสู่การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน อพท.ได้เดินหน้าดูแลเกาะนี้อย่างจริงจัง
พ.อ.ดร.นาฬิกอติภัค แสงสนิท ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. กล่าวว่า ได้ร่วมกับสถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ISMED) และภาคีเครือข่าย ผนึกกำลังสร้างแบรนด์อิมเมจ หรือภาพลักษณ์โลว์คาร์บอนเดสติเนชั่นดึงนักท่องเที่ยวคุณภาพด้วยแบรนด์ Low Carbon Destination @ Koh Mak เกาะหมาก
 
                         
“อพท.เราตั้งหลักพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนเพื่อให้เกิดความสมดุล ทั้งเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เราจึงพัฒนาให้เกาะหมากเป็นโมเดลต้นแบบโลว์คาร์บอนเดสติเนชั่น เพื่อดึงนักท่องเที่ยวคุณภาพ ไม่ว่าจะเป็นชาวยุโรป เอเชีย หรือคนไทยเอง เพราะกระแสการท่องเที่ยวของคนรุ่นใหม่เริ่มมีการท่องเที่ยวแบบรักษ์โลก รักในธรรมชาติ ดังนั้น จึงพยายามดึงดูดและพัฒนากิจกรรมการท่องเที่ยวให้เป็นไลฟ์สไตล์ เช่น การล่องเรือใบข้ามไปยังเกาะใกล้เคียง การขี่จักรยานในเส้นทางธรรมชาติ”
                         
สำหรับความร่วมมือและความเข้มแข็งของท้องถิ่นในเกาะหมากอง ก็มีการรวมกลุ่มกันเป็น Low Carbon Family ที่มีทั้งภาคธุรกิจ ภาคราชการและประชาชน จำนวน 45 ราย เพื่อลดปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ ใน 4 ประเด็น คือ (1) การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและการใช้พลังงานทางเลือก (2) การใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ (3) การบริหารจัดการขยะ (4) รักษาวิถีชีวิตชุมชน
ทั้งนี้จะมีการลงนามปฏิญญาเกาะหมาก Low Carbon Destination วันที่ 25 กันยายน 2555 นอกจากนั้นยังมีการพัฒนาอีกหลายกิจกรรม เกาะหมากจึงมีศักยภาพและความพร้อมในการเป็น โลว์คาร์บอนเดสติเนชั่น
                         
อพท.จึงร่วมกับ ISMED พัฒนาโมเดลการสร้างแบรนด์การพัฒนาท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน Low Carbon @ Koh Mak เกาะหมาก วางกลยุทธ์การพัฒนาภาพลักษณ์ (Brand Image) ในระยะเวลา 3 ปี ตั้งแต่ พ.ศ.2558-2560 วางแผนสร้างให้นักท่องเที่ยวเกิดการรับรู้และมาสัมผัสประสบการณ์การท่องเที่ยวสไตล์ Low Carbon เพื่อสร้างปฏิสัมพันธ์ก่อให้เกิด : การชื่นชอบ-รัก-ภักดีต่อแบรนด์ หรือ like-love-loyal
ในปีแรกนี้ เน้นวางรากฐานของแบรนด์ให้เข้มแข็ง โดยใช้ 3 กลยุทธ์ กลยุทธ์ระดับที่ 1 การวิจัยและสังเคราะห์แก่นของแบรนด์ Koh Mak Brand’s DNAเกาะหมาก ที่จะนำมาสร้างเอกลักษณ์ ความเป็นตัวตน เพื่อใช้ในการสื่อสารคุณค่าที่แตกต่าง ไปยังกลุ่มเป้าหมายและนักท่องเที่ยวเป้าหมาย องค์ประกอบมี 5 องค์ประกอบ ดังนี้ 1.Local determination ความมุ่งมั่น ตั้งใจของภาคธุรกิจที่หันมาร่วมมือกันรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อม 2.Sustainable Nature ความสงบ สวยงามของธรรมชาติบนเกาะหมาก3.Community Being เสน่ห์ความน่ารักของชุมชนที่อยู่กันอย่างเกื้อกูลกัน 4.DASTA Initiatives การสนับสนุนของ อพท. ทั้งด้านวิชาการ และด้านกิจกรรมโลว์คาร์บอน ช่วยสร้างเสริมให้เกิดการยอมรับและน่าเชื่อถือ 5.Tourist & Local Relationship มิตรไมตรีที่มีขึ้นระหว่างความเป็นเจ้าบ้านกับแขกผู้มาเยือน
                         
องค์ประกอบทั้ง 5 ถูกนำมาใช้ในการสร้างความสัมพันธ์ของคนบนเกาะหมากให้เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันและเป็นเนื้อหาหลักในการสื่อสารไปยังนักท่องเที่ยวที่รักและห่วงใยในด้านผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การสื่อสารภาพลักษณ์ผ่านตราสัญลักษณ์ (หรือโลโก้) เป็นการสื่อความหมายถึงการท่องเที่ยวสไตล์ Low Carbon มีสัญลักษณ์คล้ายเรือและจักรยานด้วยสีสันที่สดใส การสื่อสาร Key Message ภายใต้สโลแกน Let’s keep Koh Mak เพื่อให้ทั้งเจ้าบ้านเจ้าของพื้นที่และนักท่องเที่ยวต่างร่วมมือกันดูแล รักษาให้เกิดความสมดุลเป็นการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนการจัดกิจกรรมสื่อสารไปยังกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่และนักท่องเที่ยวบางส่วน โดยการจัดกิจกรรมรณรงค์การท่องเที่ยวสไตล์ Low Carbon ชื่องาน “เกาะหมาก…สำราญบานใจ” ซึ่งจะจัดในวันที่ 13 กันยายน 2557 ที่เกาะหมาก
กลยุทธ์ที่ 2 การพัฒนา และสร้างสรรค์กิจกรรมเชิงสร้างประสบการณ์กับนักท่องเที่ยวเป้าหมาย Interactive Travelers ในลักษณะ Tourist Engagement เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมระหว่างนักท่องเที่ยวและการท่องเที่ยวบนเกาะหมาก มีการสร้างสรรค์ไลฟ์สไตล์การท่องเที่ยวแบบ Low Carbon ได้แก่ แคมเปญถิ่นคนชอบปั่น….สวรรค์ของคนล้อ…เล่น…ลม คือ กิจกรรมการล่องเรือใบในน่านน้ำหมู่เกาะช้าง และการปั่นจักรยานไปสัมผัสความงดงามตามแหล่งท่องเที่ยว
                         
การร่วมมือกับสถานประกอบการ ในแคมเปญ Counting to 10,000 trees “นับหนึ่ง…สู่หมื่นต้น” เป้าหมายที่จะปลูกต้นไม้บนเกาะให้ได้ถึง 10,000 ต้น ร่วมกับนักท่องเที่ยวที่เราเรียกว่า low carbon tourist หรือนักท่องเที่ยวหัวใจโลว์คาร์บอน แคมเปญรณรงค์การสนับสนุนการบริโภคโดยใช้วัตถุดิบในท้องถิ่น Eat It Fresh เพื่อลดการขนส่งจากภายนอก ซึ่งจะเน้นให้นักท่องเที่ยวเป็นผู้มีส่วนร่วมมากขึ้นในการช่วยดูแลและรักษ์สิ่งแวดล้อม การจัดประกวดภาพจำของเกาะหมาก รางวัลกว่า 60,000 บาท
กลยุทธ์ระดับที่ 3 It’s my brand การสร้างให้เกิดเป็นแบรนด์ในใจของลูกค้าจากคุณค่าต่างๆ ของแบรนด์ ซึ่งจะผ่านประสบการณ์ที่นักท่องเที่ยวมีส่วนร่วมและสัมผัสในกิจกรรมสร้างสรรค์สไตล์โลว์คาร์บอน จะสามารถทำให้แบรนด์เกาะหมากมีคุณค่าที่โดดเด่นและแตกต่างจากแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ จะเป็นแบรนด์ที่อยู่ในใจของนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ และนักท่องเที่ยวเหล่านี้ก็จะช่วยสื่อสารไปยังนักท่องเที่ยวอื่นๆ ให้หันมาท่องเที่ยวแบบที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
                          
นอกจากนี้ อพท. ยังให้ความสำคัญไปถึงการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนอย่างเป็นระบบ ให้เกิดการต่อยอดเป็นผู้นำในภูมิภาคนี้ โดยวางแผนให้มีการพัฒนาองค์ความรู้การพัฒนาและการจัดการท่องเที่ยวเกาะหมาก อย่างยั่งยืน Sustainable Tourism Excellence Center of Thailand พร้อมสร้างเครือข่ายด้านการพัฒนาในระดับสากล ซึ่งอยู่ในขั้นตอนการศึกษาและวางรูปแบบเพื่อจะดำเนินการในปีถัดไป โดยบทบาทของ อพท. เปรียบเสมือนพี่เลี้ยงในการสนับสนุน เผยแพร่และพัฒนาองค์ความรู้ไปสู่การต่อยอด โดยเรามีภาคีเครือข่ายต่างๆ เป็นกำลังสำคัญในการผลักดันให้บรรลุเป้าหมายของการพัฒนาและบริหารจัดการให้เกิดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
อ้างอิง หนังสือพิมพ์บ้านเมือง — พฤหัสบดีที่ 4 กันยายน 2557 00:00:47 น.